ไอแพดและเทคโนโลยี ศัตรูตัวฉกาจหรือมิตรแท้ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้

ผู้เขียน: นิษฐา อึ้งสุประเสริฐ, Certified Practising Speech Pathologist, 
       MSPA

ในยุคปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเด็กยุคใหม่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี เด็กยุคนี้แทบจะทุกคนเรียกได้ว่าเป็น Digital Natives เด็กๆจะใช้ไอแพดและเทคโนโลยีได้เลยโดยแทบจะไม่ต้องมีผู้ใหญ่สอน ผิดกับคนยุคเก่าที่เราเรียกว่า Digital Immigrants ผู้ที่ต้องหัดและเริ่มใช้เทคโนโลยี

ในขณะที่เรากล่าวโทษเทคโนโลยีว่าเป็นศัตรูตัวร้าย ทำให้เด็กมีภาวะสมาธิสั้น ก้าวร้าว ติดเกมส์ มีปัญหาทางพฤติกรรม พูดช้า แม้กระทั่ง”ติดไอแพดจนเป็นออทิซึม” อย่างที่คุณหมอ คุณครูและนักบำบัดบางท่านกล่าว

การกล่าวโทษเหล่านี้เป็นจริงหรือไม่ แล้วแต่กรณีเลยค่ะ ถ้าผู้ใหญ่ให้ไอแพดเด็กไปเล่น เพื่อให้เขาอยู่เฉยๆ ไม่ต้องซนหรือมารบกวนเรา นี่แหละค่ะตัวอันตราย แต่ในทางกลับกัน ไอแพดส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างไร บางท่านอาจสงสัย ในการทำงานกับเด็กบางคนที่บางทีการให้ดูและฝึกพูดจากบัตรคำ อ่านจากกระดาษ เป็นสิ่งที่น่าเบื่อมากสำหรับเขา Speech Pathologists หลายๆคนที่เชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยีเสริมเพื่อการเรียนรู้จะสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการกระตุ้นการสื่อสาร ซึ่งผลสุดท้ายที่เราทุกคนมุ่งหวังคือ การ”พูดได้” หรือ สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพของเด็กๆที่เราทำงานด้วย

 

เมื่อใช้เทคโนโลยีให้ถูกทาง ไอแพดและ tablets สามารถ:

1. ใช้เป็นเครื่องมีอสื่อสารและพัฒนาทักษะทางภาษา:

  • พัฒนาความเข้าใจและการใช้ภาษา
  • ใช้เป็นการสื่อสารทางเลือก (พูดแทน)
  • ช่วยให้เด็กๆมองเห็นภาพว่าจะต้องออกเสียง เช่น “ส” หรือ “ก” ที่ถูกต้องจะต้องทำลักษณะปากและตำแหน่งของลิ้นอยู่ที่ไหน
  • ช่วยพัฒนาคำศัพท์
  • ทำให้เข้าใจบุพบท (preposition) ได้อย่างง่ายดาย
  • ในเด็กที่มีภาวะออทิซึม ยังมีแอพพลิเคชันที่ช่วยส่งเสริมบทสนทนากับผู้อื่นด้วยค่ะ

 

                             

Proloquo2Go                                         Speech Sounds on Cue for iPad

2. ใช้เพื่อเพิ่มความเข้าใจและเรียนรู้ตามหลักสูตรการเรียน:

  • เรียนรู้โฟนิกส์ เสียงของตัวอักษร (Phonics)
  • สอนการเรียงลำดับก่อนหลัง (Sequencing Skills)
  • เด็กๆสามารถสร้างนิทาน หรือถ่ายภาพมาเพื่อเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวัน
  • ใช้เป็นโซเชียลสตอรี่ (Social Stories)
  • ใช้เป็นตารางภาพเพื่อพัฒนาทักษะในชีวิตประจำวัน เช่น แปรงฟัน ทำกับข้าวง่ายๆ

 

             

Pictello

3. ใช้เพื่อพัฒนาทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การใช้วีดีโอเพื่อสอนทักษะการเล่น การสนทนาและพัฒนาความสัมพันธ์ ใช้วีดีโอเพื่อสอนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้มีการวิจัยแล้วว่าได้ผลดีกับเด็กที่มีภาวะออทิซึมและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
                             
                             iMovie

Speech Pathologist เลือกแอพพลิเคชั่นอย่างไร

ง่ายๆเลยค่ะ ถ้าใช้แล้วเด็กไม่พูดหรือไม่มีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้เพราะบางแอพพลิเคชั่นก็มีคุณสมบัติต่างๆที่เด็กๆสามารถกดใช้และตัวแอพเองก็ตอบสนองต่อการกดหรือเล่นในแอพนั้นๆ โดยที่เด็กไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ไม่ต้องพูดอธิบายอะไร ก็ลบทิ้งได้เลย (ถ้าเป็นแอพฟรีนะคะ) แต่โดยมาก ก่อนที่จะนำแอพพลิเคชั่นมาใช้ในชั่วโมง Speech Therapy เพื่อกระตุ้นการสื่อสารและฝึกพูด เราจะต้องมีจุดมุ่งหมาย คำศัพท์ และทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นที่กำหนดไว้เพื่อพัฒนารายบุคคลอยู่แล้วค่ะ

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการใช้ไอแพดเพื่อการเรียนรู้ต้องมีคุณพ่อคุณแม่ดูแลและสอน ​อย่างใกล้ชิดนะคะ คุณพ่อคุณแม่อาจจะเหนื่อยกว่าการพาน้องๆไปเล่นข้างนอก ขี่จักรยาน หรือทำกิจกรรมร่วมกันด้วยซ้ำไปค่ะ
ICT = IT CAN’T TEACH

การใช้เวลาหน้าจอไม่เกิน 1 ชมในเด็กเล็ก และ ไม่เกิน 2 ชม ในเด็กโตก็เป็นสิ่งสำคัญค่ะ การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ หรือใช้เพื่อให้เด็กๆไม่เบื่อเพราะคิดว่าเราใส่แอพพลิเคชั่นเพื่อการศึกษาไปแล้วโดยไม่มีการควบคุมอย่างใกล้ชิด วิธีการแบบนี้จะทำให้เทคโนโลยีเป็นศัตรูที่ร้ายกาจได้ค่ะ มาใช้เทคโนโลยีให้ถูกต้องกันนะคะ

“หมดสมัยแล้วกับการ “เล่น” ไอแพดค่ะ”

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *